Statistics Statistics
380251
Online User Online1
Today Today55
Yesterday Yesterday236
ThisMonth This Month4,470
LastMonth Last Month7,223
ThisYear This Year37,591
LastYear Last Year116,526

การทอผ้าพื้นเมืองของชาวบ้านไผ่หูช้าง

         ผ้าทอพื้นเมืองของชาวบ้านไผ่หูช้าง เป็นศิลปวัฒนธรรมของกลุ่มชนพื้นเมืองโบราณที่มี ขนบธรรมเนียมประเพณีวัฒนธรรมเป็นของตนเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทอผ้าเป็นศิลปะที่ได้รับการถ่ายทอดมาจากบรรพบุรุษมาสู่รุ่นลูกหลานบ้านไผ่หูช้าง ขึ้นอยู่กับตำบลไผ่หูช้าง อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม 

         หมู่บ้านแห่งนี้เป็นหมู่บ้านของชาวไทยโซ่ง หรือลาวโซ่ง ซึ่งเป็นกลุ่มชนพื้นเมืองโบราณที่อพยพมาจากเวียงจันทร์ ตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรี ซึ่งชาวไทยโซ่งมีการกระจายอยู่หลายพื้นที่และหลายจังหวัด ในภาคกลาง ได้แก่ จังหวัดสุพรรณบุรี จังหวัดอุทัยธานี นครสวรรค์ พิจิตร พิษณุโลก กำแพงเพชร และเพชรบุรี โดยจะมีภาษา สำเนียง คำพูดเป็นของตนเองและมีวัฒนธรรม ประเพณี เป็นเอกลักษณ์ของตนเอง จากการเล่ากันว่าสมัยก่อนได้นำผู้คนหลายฐานะ หลายอาชีพ ที่กระจายอยู่ในพื้นที่ต่าง ๆ มาจับจองบุกเบิกพื้นที่บริเวณที่มีพื้นที่สูงเนิน โดยถากถางทำนาข้าว และปลูกบ้านเรือนที่อยู่อาศัยกันเป็นกลุ่มเมื่อปี พ.ศ. ใดไม่ปรากฏ ซึ่งประมาณ 200 ปี หมู่บ้านแห่งนี้มีการพัฒนาไปตามสังคมยุคสมัย ปัจจุบันมีน้ำประปาใช้ มีถนนหนทางคมนาคมที่สะดวก การสื่อสารเข้าถึง มีการพัฒนาแหล่งน้ำดีขึ้น และปัญหาด้านโจรผู้ร้ายไม่มี เนื่องจากประชากรในหมู่บ้านมีอาชีพที่มั่นคง คืออาชีพทอผ้า ทำนา เกษตรกรรม ซึ่งผ้าทอของหมู่บ้านไผ่หูช้างนี้เป็นผลงานที่มีความสวยงาม เป็นที่นิยมกับผู้ที่ได้นำไปใช้และผู้ที่พบเห็น จึงทำให้มีชื่อเสียงไปทั่ว ผู้คนมาหาซื้อผ้าทอมือพื้นเมืองของบ้านไผ่หูช้างมากขึ้น ซึ่งผลงานมีทั้งผ้ามัดหมี่ ผ้าฝ้ายย้อมคราม ผ้าขาวม้า และผ้าทอต่าง ๆ ตามความต้องการของท้องตลาด เพื่อนำไปเป็นเครื่องนุ่งห่ม และเก็บสะสม ดังนั้นผ้าทอของหมู่บ้านไผ่หูช้างในปัจจุบันจึงเป็นสินค้าพื้นบ้านที่ควรแก่การส่งเสริมและการอนุรักษ์ไว้เป็นอย่างยิ่ง

         ผ้าทอมือเป็นผลิตภัณฑ์หัตถกรรมที่มีมาช้านาน มีลักษณะการผลิตที่เหมาะสมกับโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศ กรรมวิธีในการผลิตทุกขั้นตอนใช้แรงงานที่มีฝีมือ และความชำนาญ โดยการนำเส้นใยมาทอให้เป็นผืนผ้า โดยมีการสอดแทรกสีสันลวดลายต่าง ๆ ไปพร้อมกัน ซึ่งต้องทำด้วยความประณีตชำนาญ และมีศิลปะ ผลิตภัณฑ์ผ้าทอมือจึงเป็นศิลปะหัตถกรรมพื้นบ้านที่มีความงดงาม มีเอกลักษณ์ในตัวเอง ทำให้เป็นที่ชื่นชอบของผู้ที่นิยมผ้าทอมือทั่วไป นางหวาน ทองคงหาญ เป็นกลุ่มแม่บ้านในหมู่บ้านวัย 52 ปี เล่าว่า ผู้คนที่นี้โดยเฉพาะแม่บ้าน และลูกผู้หญิงจะรู้จักและคลุกคลีอยู่กับการทอผ้ามาตั้งแต่ดั่งเดิมที่ได้รับสืบถอดมาจากบรรพบุรุษ สมัยก่อนการทอผ้าก็ทำกันแบบบ้านใครบ้านมันส่วนใหญ่ทอใช้กันในครัวเรือน ไม่ต้องไปซื้อผ้าที่ตลาด ทุกบ้านจะมีกี่กระตุกตั้งไว้ใต้ถุนบ้าน ว่างเมื่อใดก็ทำกันเมื่อนั้น ผ้าทอที่ได้ก็มักนำมาใช้เป็นเครื่องนุ่งห่มในเครื่องเรือนโดยไม่ต้องไปซื้อหาจากที่อื่น

ขั้นตอนการทอผ้า และอุปกรณ์สำคัญที่ต้องใช้ 
         นางบุญมา รอดเจริญพันธ์ ประธานกลุ่มทอผ้า หรือหัวหน้าห้องกี่ทอผ้า หมู่ 5 ตำบล ไผ่หูช้าง อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม เล่าให้ฟังว่าในระยะแรก ๆ การทอผ้ายังรูปแบบเดิมที่ชาวบ้านส่วนใหญ่ทำกัน ต่อมาเมื่อประมาณปี 2534 ได้มีหน่วยงานของรัฐเข้ามาคือ หน่วยงานพัฒนาชุมชน ได้เข้ามาช่วยสาธิตวิธีการทอผ้าที่นำเอาเทคนิคใหม่ ๆ มาช่วยในการผลิต จึงเริ่มมีการทอผ้าลายตีนจกสลับลายขิด และไหมมัดหมี่ ซึ่งเป็นงานขั้นสูงขึ้นมาทอกัน และเมื่อผลงานออกสู่สายตาของคนทั่วไป ก็ได้รับความนิยมกันมากจากชาวบ้าน และกลุ่มผู้ผลิตก็มีความรู้สึกดีใจและภูมิใจกันมาก ที่มีผู้คนให้ความสนใจในฝีมือการทอผ้า จึงเริ่มมีกำลังใจทำกันอย่างจริงจัง
นางบุญมากล่าวต่อไปว่า กว่าจะได้ผ้าทอที่มีลายและสีสันสวยงามเป็นที่ถูกตาต้องใจ
ของผู้คนไม่ใช่เรื่องง่ายนัก ต้องอาศัยความชำนาญของผู้ทอเป็นส่วนสำคัญ จึงจะได้มาซึ่งผลงาน พื้นผ้าที่สวย อุปกรณ์การทอผ้าที่สำคัญก็มี กง หลา หลัก ด้าย และกี่กระตุก

         กระบวนการเริ่มด้วยการนำด้ายที่ผ่านการจัดเป็นไจมาใส่ในหลาแล้วดึงปลายด้ายม้วนเข้าที่กงปล่อยให้ผ่านไปยังหลอดด้าย แล้วทำการหมุนกงให้ทุกส่วนหมุนตาม เส้นด้ายจะวิ่งผ่านไปรวมอยู่ที่หลอด เมื่อด้ายเข้าหลอดได้ตามกำหนดแล้วนำมาเสียบไว้ที่แกนหลักที่ตั้งไว้เป็นแถวหลากหลายสีด้วยกัน แล้วขมวดปลายเส้นด้ายจากทุกหลอดมารวมกันแล้วใช้นิ้วเกี่ยวเส้นด้ายสลับกันไปมา หรือที่เรียกว่า รำด้าย

         การทอผ้านั้นมือและเท้าจะต้องทำงานอย่างสัมพันธ์กัน ผ้าทอที่ได้แต่ละนิ้ว แต่ละคืบจะถูกม้วนเก็บไว้ภายในกี่ จนกว่าจะได้ความยาวตามที่กำหนดแล้วจึงตัดออกเก็บไว้รอการจำหน่าย ปัจจุบันผ้าทอกลุ่มแม่บ้านไผ่หูช้างมีลูกค้าทั้งในจังหวัดและกลุ่มแม่บ้านจากต่างถิ่น ตลอดจนมีนักท่องเที่ยวจะมาชมกิจการและหาซื้อกลับไปอยู่เสมอ จึงไม่ค่อยมีปัญหาด้านการตลาดมากนัก นอกจากจะทอเพื่อจำหน่ายแล้วทางกลุ่มยังรับทอตามที่ลูกค้าต้องการและกำหนดลวดลายด้วย กลุ่มทอผ้าไผ่หูช้างหมู่ที่ 5 นี้ มีผ้าทอหลายแบบทั้งลวดลายและสีสันมากมายหลายอย่าง มีทั้งผ้าไหมผืน ผ้ามัดหมี่ ผ้าสลับขิด ผ้าตีนจก ผ้าขาวม้า และอื่น ๆ อีกมากมาย ส่วนราคาก็แตกต่างกันออกไปตามความยากง่ายของแต่ละลวดลาย ผู้ที่สนใจติดต่อได้ที่ บ้านเลขที่ 49 หมู่ 5 ตำบลไผ่หูช้าง อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม ซึ่งเป็นที่ทำการกลุ่ม

 

ที่มา : http://emis.christian.ac.th/ctc/Loca_lWisdom/Local_Wisdom.html